เมื่อพูดถึงหนึ่งในเทคโนโลยีกำลังเป็นที่จับตามอง ต้องมีเรื่องของ NDID หรือ National Digital Identity ซึ่งก็คือระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยมีการเก็บข้อมูลที่ระบุอัตลักษณ์หรือคุณลักษณะของแต่ละบุคคล แล้วสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูล เชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างมาตรฐานการพิสูจน์และการยืนยันตัวตนร่วมกันทั้งประเทศไทย เป็นการยกระดับการทำธุรกรรมต่างๆ ให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และสะดวกสำหรับบุคคลทั่วไปในการยืนยันตัวตนกับสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาคธนาคาร ภาครัฐ รวมไปถึงภาคเอกชน

ภายใต้ระบบการพิสูจน์ตัวตนนี้ มีองค์ประกอบหลักๆ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
1. Identity Provider (IDP) ผู้ทำหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้พิสูจน์และยืนยันตัวตน และเป็นผู้รับลงทะเบียนยืนยันการพิสูจน์ตัวตนให้กับผู้ที่จะขอใช้ข้อมูล อาทิเช่น กรมการปกครอง หรือธนาคาร เป็นต้น

2. Authoritative Source (AS) กลุ่มผู้ให้บริการข้อมูลของลูกค้าตามที่ร้องขอ เช่น ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ, ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน, ข้อมูลด้านสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลจะถูกตรวจสอบ ต้องผ่านสถานะการยืนยันตัวตนและยินยอมให้ใช้ข้อมูล จึงจะสามารถให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงได้

3. Relying Party (RP) กลุ่มผู้ให้บริการในการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ธนาคารให้บริการเปิดบัญชี, การขอสินเชื่อ, สมัครบัตรเครดิต หรือบริษัทหลักทรัพย์ ให้บริการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถดึงข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลไปใช้ได้เมื่อมีการติดตั้งระบบ NDID

ทั้งนี้ ข้อสำคัญคือการจะเข้าถึงข้อมูลต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อนทุกครั้ง ล้อกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

สำหรับบุคคลทั่วไป การทำธุรกรรม เช่น การเปิดบัญชีใหม่กับธนาคาร จะต้องมีระบบการยืนยันตัวตน (Know Your Customer: KYC) เช่น ขอบัตรประชาชนและเอกสารอีกมากมาย รวมถึงเอกสารที่ต้องกรอก ณ สาขา เพื่อเปิดบัญชี นอกจากเรื่องเอกสารแล้ว ผู้เปิดบัญชียังต้องเสียเวลาในแต่ละขั้นตอนด้วย

ในมุมของธนาคาร ธนาคารมีต้นทุนที่ให้บุคลากรมาทำการเปิดบัญชีให้กับผู้เปิดบัญชีทีละคนๆ หากลองคำนวณเล่นๆ ว่าแต่ละวันพนักงานธนาคารหน้าเคาท์เตอร์คนหนึ่ง ทำงาน 8 ชั่วโมง และการเปิดบัญชีใหม่ ก็เสียเวลาครึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้น นั่นแปลว่าใน 1 วัน พนักงานหนึ่งคนสามารถบริการลูกค้าได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น เป็นการสิ้นเปลืองแรงงานและค่าใช้จ่ายของธนาคารอย่างมาก

แต่หากธนาคารมีการใช้งาน NDID และทำหน้าที่เป็น IDP เพื่อจัดทำข้อมูลในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของลูกค้า และมีการจัดทำระบบ e-KYC ขึ้นมา ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนทางด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ยกตัวอย่างเช่น การทำ Facial Recognition และ Hardware Security Module (HSM) แต่ความคุ้มค่าหลังจากธนาคารมีระบบนี้แล้วคือ ธนาคารเรียกใช้ข้อมูลลูกค้าระหว่างสำนักงานใหญ่กับสาขาต่างๆ ด้วย ทำให้ลูกค้าผู้ใช้งานธนาคารนั้นๆ ได้รับความสะดวกสบายเนื่องจากไม่ต้องวุ่นวายเรื่องเอกสาร และยังสามารถให้ข้อมูลที่มีการยินยอมให้ใช้งานจากลูกค้าเพื่อนำไปสร้างรายได้ เมื่อมีหน่วยงานอื่นที่มีการเชื่อมต่อเข้ากับ NDID ต้องการขอใช้ข้อมูลดังกล่าว

โดยหากลูกค้าประสงค์ที่จะเปิดบัญชีที่ธนาคารอื่นๆ ที่ยังไม่เคยมีการเปิดบัญชีมาก่อน หากธนาคารนั้นๆ มีเชื่อมต่อกับ NDID และทำหน้าที่เป็น IDP  ก็จะสามารถขอใช้ข้อมูลการพิสูจน์และยืนยันตัวตนจาก IDP ของธนาคารที่ลูกค้าเคยให้การยินยอม และขอข้อมูลเฉพาะจาก AS ได้ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการขอเอกสารจากลูกค้าใหม่ นั่นคือข้อดีของระบบ NDID

ถ้าพูดง่ายๆ NDID ก็เปรียบเสมือนเป็นถนนในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างองค์กร โดย RP ไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลของลูกค้าเอง แต่สามารถไปเรียกใช้ข้อมูลจากองค์กรที่เป็น IDP และ AS ให้บริการข้อมูลลูกค้า เช่น จากบัญชีของธนาคารอื่นที่ผู้เปิดบัญชีมีข้อมูลอยู่แล้ว และลูกค้ายินยอมให้ใช้ข้อมูล ซึ่งก็จะทำให้ผู้เปิดบัญชีใหม่ สามารถเปิดบัญชีได้ง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชั่นในมือถือ ในเวลาเพียงไม่ถึง 5 นาที

ในช่วงแรกของโครงการ NDID นี้ เริ่มจากในเฟสแรก ที่ธนาคารใช้เทคโนโลยี Facial Recognition ในกระบวนการ KYC เพื่อเปิดบัญชี ในปัจจุบันเราอยู่ในเฟสสอง ซึ่งเป็นการพิสูจน์และยืนยันตัวตนข้ามธนาคารผ่าน NDID หลังจากนี้มีความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดไปสู่เรื่องของการตรวจเครดิตบูโร (National Credit Bureau: NCB) หรือ Statement นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถใช้ประโยชน์จาก e-KYC และ NDID ได้อีกมาก เช่น กระทรวงสาธารณสุขสามารถนำ e-KYC ไปใช้ในการจัดทำข้อมูลสุขภาพของประชาชน เพื่อให้ประกันสามารถดึงข้อมูลไปใช้ เป็นต้น

สำหรับองค์กรที่อยากทราบข้อมูลของ NDID ให้มากขึ้น ทางสตรีมฯ สามารถให้คำปรึกษา วางแผน ไปจนถึงติดตั้งตัวระบบ และดูแลระบบของท่านให้ดำเนินการเป็นปกติเรียบร้อย เรามีประสบการณ์ในการทำ NDID ให้กับธนาคารชั้นนำ สนใจติดต่อฝ่ายการตลาด โทร. 02-679-2233 อีเมล Marketing@stream.co.th